ปัญหาอาการเต้านมคัด

ปัญหาอาการเต้านมคัด

 ปัญหาอาการเต้านมคัดเป็นเรื่องปกติที่เต้านมแม่จะใหญ่ขึ้น หนักขึ้นและบวมเมื่อมีการสร้างน้ำนมมากขึ้นในวันที่ 2-6 หลังคลอด  ซึ่งการสร้างน้ำนมที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทำให้เกิดเต้านมคัด เต้านมจะแข็งขึ้นและมีอาการปวด บวม ร้อน เต้านมมีสีแดงขึ้น  บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ และอาจทำให้สับสนกับโรคติดเชื้อที่เต้านม อาการคัดเต้านมเป็นผลจากร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้นมักเกิดขึ้นวันที่ 3-4 หลังคลอดบุตร ซึ่งทำให้การไหลเวียนโลหิตช้า  เมื่อเลือดและน้ำเหลืองเคลื่อนผ่านเต้านม ของเหลวจากเส้นเลือดเหล่านี้มีการซึมผ่านบริเวณเนื้อเยื่อเต้านมทำให้เกิดการคั่งบริเวณเต้านม ต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคัดเต้านม

  • การดูดนมที่ผิดวิธีและท่าอุ้มให้นมที่ผิดวิธี
  • การพยายามจำกัดเวลาให้นมและการให้นมไม่บ่อยเท่าที่ควร
  • การให้อาหารเสริมอื่นโดยใช้ขวดนมเช่น น้ำ น้ำผลไม้ นมผสม หรือนมแม่
  • การใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
  • การเปลี่ยนเวลาให้นมเพื่อกลับไปทำงาน
  • ตัวลูกเองมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูดนมเช่น นอนหลับตลอดคืน หรือดูดนมในบางช่วงของวันถี่ขึ้นแต่ไปดูดน้อยลงในเวลาอื่น
  • เด็กบางคนมีแรงดูดน้อย ซึ่งทำให้ไม่สามารถดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แม่มีความอ่อนเพลีย มีความเครียด หรือภาวะโลหิตจาง
  • หัวนมเป็นแผล

อาการเต้านมคัดอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ ดังนั้นควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หากปฏิบัติได้ถูกต้องอาการควรหายไปภายใน 1-2 วัน

 วิธีแก้ไข

  • ลดอาการเต้าคัดโดยให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีและการอุ้มให้นมให้ถูกท่า ให้ลูกดูดบ่อยๆและนานเท่าที่ลูกต้องการ ในช่วงแรกเมื่อน้ำนมมาเต็มเต้าพยายามปลุกลูกให้ดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง การให้ลูกดูดนมจากเต้าช่วยให้นมไหลได้ดีและระบายนมออกจากเต้าซึ่งทำให้เต้านมไม่เต็มจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเสริมการให้นม หรือใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
  • ก่อนให้ลูกดูดนม พยายามบีบนมด้วยมือหรือปั๊มนมออกก่อนเล็กน้อยเพื่อให้เต้านม ลานนมและหัวนมนิ่มลง หรือนวดเต้านมให้ร้อนขึ้น
  • ความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวด  คุณแม่บางคนใช้ใบกะหล่ำปลีช่วยบรรเทาอาการเต้าคัด ถึงแม้ประสิทธิภาพของใบกระหล่ำปลีจะยังไม่มีการพิสูจน์ แต่แม่ๆหลายคนคิดว่ากะหล่ำปลีช่วยได้ คุณแม่อาจใช้กะหล่ำที่แช่เย็นหรือที่อุณหภูมิห้อง ตัดให้เป็นช่องสำหรับหัวนม และวางลงบนเต้านมได้เลย โดยสวมไว้ในเสื้อชั้นใน ให้เปลี่ยนใบสดใหม่เมื่อใบเก่าเหี่ยวลง  

สิ่งสำคัญ
หากมีอาการเต้านมคัดเกิน 2 วัน หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองแล้ว ให้ปรึกษาที่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นม

Reference

1. American Pregnancy Association: Breast Engorgement: https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/breast-engorgement-8755/
2. Mayo Clinic: Breast engorgement: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/breast-engorgement/symptoms-causes/syc-20370174
3. National Health Service (NHS), UK: Breast engorgement: https://www.nhs.uk/conditions/pregnancy-and-baby/breastfeeding-problems-and-solutions/breast-engorgement/
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว